ทลายข้อจำกัดแล้วไปต่อกับท่า Standing Bow

ทลายข้อจำกัดแล้วไปต่อกับท่า Standing Bowมีบางอาสนะที่เป็นท่าพื้นฐาน พบเจอหรือมีโอกาสได้ฝึกกันอยู่บ่อย ๆ ในคลาสโยคะทั่วไป ดูแล้วก็เป็นท่าธรรมดา ๆ ไม่ใช่ท่าพิสดารอะไรนัก แต่หากเรารักที่จะฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและค่อย ๆ ต่อเติมให้ท่านั้นเข้าใกล้ความสมบูรณ์มากขึ้นทีละเล็กละน้อย อาสนะนั้นจากที่เป็นท่าธรรมดา ๆ จะกลายเป็นท่าที่ดูเว่อร์วังอลังการขึ้นมาทันที

Standing Bow Pulling Pose (Dandayamana Dhanurasana) เป็นหนึ่งในอาสนะเหล่านั้น

เรายืนขาเดียว มือข้างหนึ่งจับเท้า แขนข้างหนึ่งเหยียดไปข้างหน้า แล้วก็ทรงตัวอย่าให้ล้ม สำหรับคนส่วนใหญ่ท่านี้จบแค่นั้น

แต่ Standing Bow ของจริงยังมีพื้นที่ให้เราพัฒนาต่อไปได้อีกมาก ใครที่ไม่อยากหยุดตัวเองอยู่แค่การยืนทรงตัวขาเดียว และอยากพัฒนาการฝึกไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จากอาสนะนี้ ผมแนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนวิธีการฝึก รวมไปถึงความคิดที่เราเคยมีต่อ Standing Bow ดังต่อไปนี้ครับ

จับเท้าด้านใน

แค่เรื่องตำแหน่งการจับเท้าก็สามารถบอกได้ทันทีว่าใครจะได้ไปต่อ

การจับที่ข้างเท้าด้านนอกหรือข้อเท้าด้านนอกจะทำให้ไหล่ปิดและหน้าอกจม และเนื่องจาก Standing Bow เป็นอาสนะที่ไม่สมมาตร คือเวลาอยู่ในท่าซีกขวาและซีกซ้ายของร่างกายไม่ได้ทำงานแบบเดียวกัน เมื่อออกแรงเตะขาสูงขึ้นจะทำให้สมดุลของท่าเอียงไปทางฝั่งเดียวกับขาข้างที่เตะ เราจะเริ่มเซออกด้านข้าง ยิ่งเตะยิ่งเซ ดังนั้นเราก็เลยหยุดเตะ และเมื่อเราหยุดเตะเราก็ทำได้แค่ยืนทรงตัวเท่านั้น ไม่สามารถเข้าสู่ท่าให้ลึกขึ้นได้

ให้ลองเปลี่ยนมากำที่ข้อเท้าด้านในแทน การจับจากด้านในจะทำให้ต้นแขนหมุนออก ไหล่เปิด และหน้าอกเปิดพร้อมสำหรับการทำท่าแอ่นหลัง อีกทั้งตำแหน่งการจับเท้าแบบนี้ยังช่วยลดโอกาสที่เราจะเซออกด้านข้าง เป็นการจัดวางท่าที่เอื้อต่อการถ่ายเทแรงเข้าสู่ศูนย์กลางได้ดีกว่า เมื่อถ่ายเทแรงได้สมดุลดีแล้ว โอกาสที่เราจะไปต่อเพื่อให้เข้าสู่ท่าได้ลึกขึ้นก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย

โน้มตัวลงต่ำ

ลองยืนตรงแล้วยกขาข้างหนึ่งขึ้นด้านหน้า สังเกตดูว่าเรายกขึ้นมาได้สูงแค่ไหนโดยที่ตัวไม่เอนไปทางด้านหลัง

ทีนี้ลองเปลี่ยนไปทำทิศทางตรงกันข้ามดูบ้าง ลองยืนตรงแล้วเตะขาข้างหนึ่งไปทางด้านหลัง แล้วสังเกตดูว่าขาเราไปได้แค่ไหนโดยที่ตัวไม่โล้มาทางด้านหน้า

โดยทั่วไปแล้วเราสามารถยกขาขึ้นด้านหน้าได้เยอะมาก ต่อให้ขาตึงแค่ไหนก็น่าจะยกได้ไม่ต่ำกว่า 50 หรือ 60 องศา ยิ่งถ้าใช้มือช่วยดึงขาด้วยแล้ว บางคนอาจยกได้ถึงเกือบ 180 องศาเลยทีเดียว

แต่ในทางกลับกัน เราเตะขาไปด้านหลังได้ไม่มากนัก โดยเฉลี่ยสำหรับคนสุขภาพดี มีความยืดหยุ่นเป็นปรกติดี ส่วนใหญ่จะยกได้แค่ประมาณ 30 องศาเท่านั้น

ดังนั้นสิ่งที่ควรทำในท่า Standing Bow เพื่อให้เราสามารถเตะขาได้สูงขึ้นก็คือการโน้มตัวลงต่ำ เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้ขาสามารถเคลื่อนไปด้านหลังและขึ้นด้านบนได้มากขึ้น นอกจากนี้ การโน้มตัวลงต่ำยังเป็นการช่วยลดแรงบีบอัดที่จะเกิดขึ้นกับหลังส่วนล่างเวลาที่เราเตะขาขึ้นสูงได้อีกด้วย

ให้ลองโน้มตัวลงต่ำให้สัมพันธ์กับการเตะขาขึ้นสูง สร้างสมดุลระหว่างการเคลื่อนขึ้นของขาและการเคลื่อนลงของร่างกายให้สอดคล้องกัน ระดับที่เหมาะสมโดยทั่วไปคือโน้มลงมาจนหน้าท้องขนานพื้น แล้วอย่าลืมยืดอกเพื่อโค้งหลังส่วนบนให้มากขึ้นด้วยนะครับ

Standing Bow

อย่ากลัวการล้ม

อาสนะประเภทยืนขาเดียวมักจะล่อลวงเราให้เกิดความคิดอย่างหนึ่งว่า “ห้ามล้ม” ซึ่งการที่เราคอยระแวดระวังว่าจะต้องไม่ล้มนั้น ทำให้เราหยุด “ไปต่อ” ในอาสนะเหล่านี้

ดังนั้นหากต้องการจะพัฒนา Standing Bow หรือแม้แต่อาสนะยืนขาเดียวท่าอื่น ๆ ต่อไปให้สามารถทำได้ลึกมากยิ่งขึ้น ก็จำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่าในการฝึกฝนนั้นมันต้องมีการล้มเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ให้ลองสังเกตดูว่าตอนที่เราล้มหรือเกือบ ๆ จะล้มในท่า Standing Bow เรามักจะล้มไปทางไหน คนส่วนใหญ่มักจะเซไปด้านหลัง เพราะเวลาที่อยากทำท่าให้ได้ลึกมากขึ้นก็จะใช้วิธีเพิ่มแรงเตะของขา พอใกล้ ๆ จะล้มก็จะปล่อยมือเพื่อวางเท้ากลับลงสู่พื้น ดังนั้นให้เปลี่ยนมาเป็นเพิ่มการพุ่งไปด้านหน้าให้มากขึ้นเพื่อให้สมดุลกับแรงเตะของขา และหากจะล้มก็ให้เรายอมล้มไปด้านหน้าแล้วเอามือยันพื้นกันหน้าคะมำแทนการล้มไปข้างหลัง

อย่างไรก็ตาม มีบางคนที่มักจะล้มไปข้างหน้าเป็นประจำเช่นกัน หากคุณเป็นคนกลุ่มนี้ก็ให้เพิ่มแรงเตะของขาไปทางด้านหลังให้มากขึ้นแทน เพื่อหาจุดสมดุลของแรงในสองทิศทาง และสมดุลนั้นเองจะนำเราไปสู่ความลึกของท่าที่มากขึ้นต่อไป

ทั้งหมดนี้เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ร่างกายเราสามารถค้นหาสมดุลได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้ใจเราก้าวข้ามความคิดเดิม ๆ ที่จำกัดเราเอาไว้ไม่ให้เราได้ไปต่อ เมื่อทลายข้อจำกัดทั้งทางกายและความคิดเหล่านี้ลงได้แล้ว เราจะค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากอาสนะพื้นฐานที่พบเจอได้ทั่วไปอย่างท่า Standing Bow

เห็นภาพชัด ๆ ต้องตามไปดูได้ในคลิปต่าง ๆ ตามนี้เลยครับ

Facebook Comments

Related posts