ธาตุทั้ง 5 กับการฝึกโยคะ

ธาตุทั้ง 5 กับการฝึกโยคะหนึ่งในความเชื่อพื้นฐานของอายุรเวทที่สืบทอดกันมาคือทุกสิ่งสรรพในจักรวาลล้วนแล้วแต่ประกอบกันขึ้นมาด้วยธาตุทั้ง 5: ดิน ไฟ น้ำ ลม และอากาศธาตุ และสรรพสิ่งต่าง ๆ นี้ก็ดำรงคงอยู่เป็นปรกติสุขได้ก็ด้วยการที่ธาตุทั้ง 5 ประกอบกันอยู่ในสัดส่วนอันสมดุลกัน

และเมื่อพิจารณาตามความรู้นี้แล้ว ร่างกายของมนุษย์เราก็อยู่ภายใต้กฎแห่ง 5 ธาตุนี้เช่นกัน และการเสียสมดุลของธาตุทั้ง 5 ในร่างกายของเราจะแสดงออกมาในรูปของอาการเจ็บป่วยรูปแบบต่าง ๆ

ในหฐโยคะเองก็มีมุมมองในเรื่องของการรักษาสมดุลของพลังงานและสสารในกาย เราสามารถฝึกโยคะอาสนะโดยอาศัยมุมมองเรื่องธาตุทั้ง 5 มาพัฒนาการฝึกของเราไปสู่ระดับที่ละเอียดลึกซึ้งได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการฝึกอยู่บนหนทางที่ครอบคลุมครบทุกองค์ประกอบที่นำพาไปสู่ความสมดุลได้ในที่สุด

เรามาเริ่มกันที่องค์ประกอบแรกคือธาตุดิน

The Five Elements

Earth

ร่างกาย เนื้อหนังมังสา กระดูก กล้ามเนื้อ อวัยวะและองคาพยพต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นดิน ทุกอาสนะก่อร่างขึ้นมาจากดิน และไม่ว่าจะเป็นท่ายืน นั่ง หรือนอน ต่างก็เชื่อมโยงกับผืนดินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผืนดินจึงเป็นดั่งฐานให้อาสนะหยั่งรากและเติบโต อาสนะจะมั่นคงได้จึงต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกับผืนดิน จุดที่สัมผัสกับผืนดินไม่ว่าจะเป็นเท้า มือ หรือใต้กระดูกรองนั่ง เมื่อมีสติตระหนักรู้ถึงตำแหน่ง ทิศทาง การจัดวางของกายภาพต่าง ๆ เหล่านี้แล้วเท่านั้น ความมั่นคงของอาสนะจึงจะเกิดขึ้นได้

Fire

ไฟคือกำลังของอาสนะ เป็นพลังงานที่ถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกาย ไฟยังรวมไปถึงกำลังใจ แรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่น วินัย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาตนเอง ในระดับอาสนะเราสามารถเคลื่อนไฟผ่านช่องทางพลังงานต่าง ๆ ในร่างกายได้ด้วยการเรียนรู้และฝึกฝนการสร้างและใช้งานพันธะ (Bandha) ในจุดหลัก ๆ อันได้แก่ข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้เรากำกับทิศทางการเคลื่อนที่หรือวิธีที่เราใช้พลังงานในร่างกายของเราได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม

Water

ร่างกายมีของเหลวเป็นองค์ประกอบประมาณ 70% สมดุลของธาตุน้ำจึงมีผลอย่างมากต่อสุขภาพโดยรวมของร่างกาย น้ำยังหมายถึงความลื่นไหล ความสามารถในการปรับตัว และการเปิดรับความเปลี่ยนแปลง อาสนะไม่เพียงต้องแข็งแกร่งและเปี่ยมพลัง แต่ยังต้องนุ่มนวลและมีชีวิตชีวา คงรูปได้แต่ก็ปรับเปลี่ยนได้ ในทางปฏิบัติคือการเปิดจุดต่าง ๆ ที่เป็นข้อต่อให้พร้อมเคลื่อนไหวได้อยู่เสมอ ทั้งการเคลื่อนไปสู่ระดับที่ลึกมากขึ้น หรือคลายออกจากจุดเดิมที่คงอยู่ คุณสมบัติของน้ำจึงเปิดทางให้เราปรับปรุง เยียวยา ไปจนถึงสร้างสรรค์คุณลักษณะใหม่ ๆ ขึ้นมา

Air

ธาตุลมในทางกายภาพคือลมหายใจ ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่พาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายแล้ว ลมยังเป็นดั่งสะพานเชื่อมโยงกายและใจเข้าด้วยกัน ลมหายใจเป็นสิ่งแรกที่เคลื่อนที่และสิ่งสุดท้ายที่หยุดเคลื่อนที่ก่อนที่จะเริ่มเคลื่อนใหม่อีกครั้ง ในโยคะร่างกายเคลื่อนไหวตามลมหายใจเสมอ หากปล่อยให้ร่างกายนำไปก่อนเมื่อไหร่ ก็หลุดจากสภาวะโยคะไปเมื่อนั้น การฝึกปราณายามะต่าง ๆ รวมถึงการฝึกเจริญสติผ่านการกำหนดลมหายใจ ก็เป็นวิธีการที่ช่วยรักษาสมดุลธาตุลมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ธาตุลมยังมีนัยยะถึงความเบาสบาย ความสง่างาม การเปิดทั้งในเชิงกายภาพหรือร่างกาย และการเปิดใจได้อีกด้วย

Ether

อากาศธาตุคือที่ว่าง ไม่มีธาตุใด ๆ บรรจุอยู่ ในทางกลับกันที่ว่างก็เป็นที่ที่สามารถรองรับบรรจุได้ทุกธาตุ อากาศธาตุจึงสื่อถึงความเป็นไปได้ ศักยภาพ การปล่อยวาง และอิสรภาพ อากาศธาตุเป็นได้ทั้งเหตุและผลของการฝึกโยคะ เราต่างมีที่ว่างสำหรับการเพิ่มพูนและพัฒนาตัวเองอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ในขณะเดียวกันการฝึกฝนก็ช่วยเพิ่มที่ว่างให้เราได้ต่อเติมศักยภาพใหม่ ๆ ต่อไปได้ไม่หยุดหย่อน อากาศธาตุในการฝึกโยคะในทางปฏิบัติคือการอยู่กับปัจจุบัน การรู้ตัวว่าเรากำลังยึดเกาะอยู่กับสิ่งใด การปล่อยวางสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับการฝึกฝนนั้นทิ้งไป เพื่อเปิดพื้นที่ให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์กับเราอย่างแท้จริง

แนวคิดเกี่ยวกับธาตุทั้ง 5 เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการจะเรียนรู้และยกระดับการฝึกของตัวเอง เป็นการก้าวข้ามการทำท่านั้นได้ท่านี้ได้ไปสู่การสร้างสมดุลให้กับการฝึกโยคะหรือแม้กระทั่งสมดุลแห่งชีวิต

Facebook Comments

Related posts