โยคะ ฝึกให้ครบทั้ง 5 ร่าง

โยคะ ฝึกให้ครบทั้ง 5 ร่างถ้ามีคนมาถามเราว่าโยคะแตกต่างจากการออกกำลังกายอื่น ๆ อย่างไร เราอาจเลือกตอบได้ในหลายแง่มุม เราอาจบอกว่าโยคะมีการเหยียดยืด โยคะมีการกำหนดลมหายใจ โยคะฝึกโดยมีสติกำกับ โยคะเชื่อมโยงกายกับใจเข้าด้วยกัน

ที่ว่ามานี้เอาไว้เล่าให้คนที่ไม่ได้ฝึกโยคะพอให้เขาเห็นภาพ แต่เอาเข้าจริงมันก็ยังไม่ใช่คำตอบที่เคลียร์มากนัก กีฬาหรือการออกกำลังกายแบบอื่นมันก็ต้องมีสติเหมือนกัน ต้องหายใจให้ถูกจังหวะและสอดคล้องกับการเคลื่อนไหว เล่นเสร็จก็ต้องเหยียดยืด กีฬาอื่น ๆ เขาก็มีเหมือนที่เรามีนั่นแหละ

แต่ถ้ามีเวลานั่งคุยกันเป็นจริงเป็นจังสักหน่อย ผมจะตอบว่ามนุษย์เรามีร่างกายอยู่ทั้งหมด 5 ร่าง การออกกำลังกายโดยทั่วไปที่คนเข้าใจกันนั้นเป็นการฝึกร่างกายภาพร่างเดียว หรืออย่างมากก็ 2 ร่าง แต่โยคะเราฝึกฝนลึกลงไปให้ถึงร่างที่ 5 (เป็นไปได้ว่าคนที่ฟังเราอยู่อาจคิดว่าเราเพี้ยน)

ในคัมภีร์ฮินดูโบราณที่ชื่อว่า ไตติรียะ อุปนิษัท (Taittiriya Upanishad) ได้อธิบายถึงร่างทั้ง 5 นี้เอาไว้ว่า เป็นกายที่ซ้อนกันอยู่ 5 ชั้น และเรียกร่างเหล่านี้ว่า Kosha หรือ โกศะ แปลว่า Sheath หรือ Layer คือเป็นเหมือนชั้นของ 5 ร่างเรียงซ้อนกันอยู่ลึกลงไป ซึ่งร่างทั้ง 5 นั้นมีดังต่อไปนี้

Annamaya Kosha

ชั้นแรกสุดหรือชั้นที่อยู่เป็นเปลือกนอกสุดคือร่างกายภาพ หรือก็คือร่างกายที่เราพยายามจะออกกำลังกายเพื่อให้หุ่นดี รูปร่างดี พุงลด ผอมเพรียว หรือเวลาที่เราฝึกโยคะแล้วบอกว่าตัวแข็ง ไหล่ติด หลังตึง อาการต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นอาการของร่างกายภาพ เป็นกายของเนื้อหนังมังสาที่เราจับต้องมองเห็นได้ชัดเจนจากภายนอก

Pranamaya Kosha

กายในชั้นที่ 2 เป็นกายแห่งพลังชีวิตที่กำกับกระบวนการของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ การไหลเวียนเลือด การย่อยอาหาร ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย พลังชีวิตที่ว่านี้คือสิ่งที่ทางโยคะและอายุรเวทเรียกว่า ปราณ (Prana) นั่นเอง

Manomaya Kosha

ลึกลงไปสู่กายชั้นที่ 3 เป็นกายของประสาทสัมผัสต่างๆ เป็นกายที่ทำให้เรารับรู้ถึงรูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส รวมไปถึงการที่เราตอบสนองต่อสัมผัสเหล่านั้น

ถ้าจะให้เห็นภาพให้นึกถึงคนป่วยขั้นโคม่าที่ไม่รับรู้และไม่ตอบสนองต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นภายนอกอีกต่อไป แต่ปอดยังขยายและหดตัวได้อยู่ หัวใจยังบีบตัวส่งเลือดได้อยู่ นั่นคือกายที่สองยังทำงานอยู่ แต่กายชั้นที่สามปิดการทำงานไปแล้ว

Vijnanamaya Kosha

กายที่ 4 เป็นกายแห่งปัญญา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีและความสามารถที่จะแยกแยะและเลือกตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบกับศีลธรรมอันดีงามของเรา เป็นกายที่แยกเราออกจากสัตว์เดรัจฉานทั่วไปที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าไปตามสัญชาตญาณดิบ

Anandamaya Kosha

ชั้นสุดท้ายคือกายแห่งความสุขสงบจากภายใน อยู่ลึกกว่ากายภาพและอารมณ์ความรู้สึกทั้งปวง เป็นกายที่เปี่ยมไปด้วยความรักที่ไร้เงื่อนไข ไร้ตัวตน ไร้การแบ่งแยก และเป็นหนึ่งเดียวกับทุกสรรพชีวิต เป็นชั้นที่จะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถขจัดภาพลวงต่าง ๆ ของกายภาพ อารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ ออกไปได้ เป็นกายที่ต้องอาศัยความเพียรในการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องยาวนานเพื่อให้บรรลุสู่ชั้นสุดท้ายนี้ได้

Meditationโดยทั่วไปแล้ว การที่เราออกกำลังกาย เล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ และการฝึกโยคะอาสนะ รวมไปถึงการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ช่วยหล่อเลี้ยงบำรุงเราในส่วนของกายชั้นนอกสุดคือร่างกายภาพเป็นหลัก

ในส่วนของชั้นที่ลึกลงไป เราสามารถดูแลรักษากายเหล่านั้นได้ด้วยปราณายามะหรือการฝึกการหายใจเพื่อรักษาสมดุลให้เรามีพลังชีวิตที่เข้มแข็ง การเลือกที่จะรับรู้ รับฟังหรืออยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงพลังงานลบและสะสมเอาพลังงานบวกเข้าสู่ตัว และการฝึกเจริญสติเพื่อขัดเกลาให้จิตของเราบริสุทธิ์ผ่องใสและดำรงตนอยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม

จะเห็นได้ว่าโยคะกินความกว้างขวางเลยขอบเขตของการออกกำลังกายออกไปอีก ครอบคลุมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ความคิด คำพูด การสื่อสาร การกระทำ และอีกหลาย ๆ เรื่องที่เราสามารถนำโยคะไปประยุกต์ใช้ได้

ดังนั้นแล้ว ฝึกโยคะอย่าให้จบอยู่แค่บนผืนเสื่อ หากเราสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้จากการฝึกโยคะไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง หรือแม้กระทั่งเผื่อแผ่พลังงานบวกที่มีไปสู่คนรอบข้าง ก็ย่อมจะเรียกได้ว่าการฝึกโยคะของเรานั้นเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นแล้วจริง ๆ

Graphics from pngtree.com

Facebook Comments

Related posts