หายใจด้วยท้อง หายใจด้วยอก หายใจแบบไหนดี?

หายใจด้วยท้อง หายใจด้วยอก หายใจแบบไหนดี?ในการเล่นกีฬาชนิดต่าง ๆ นั้น หากการหายใจของเราไม่มีประสิทธิภาพ ขัดแย้งกับการทำงานของร่างกายในขณะที่กำลังเคลื่อนไหว อาจมีผลทำให้เราเหนื่อยเร็ว เคลื่อนไหวได้ไม่คล่องแคล่ว หรือแม้แต่เป็นลมล้มพับขึ้นมาทันทีได้เลย

แต่สำหรับการฝึกโยคะแล้ว ลมหายใจสำคัญยิ่งกว่านั้นอีก หายใจดีไม่ได้แค่ช่วยลดอาการเหนื่อยหอบ แต่ยังช่วยเติมพลังชีวิตให้เรานำไปใช้ในการฝึก ทำให้เราใช้ร่างกายได้เต็มศักยภาพมากขึ้น หรือแม้แต่ก้าวข้ามข้อจำกัดบางอย่างของร่างกายตัวเองได้เลยทีเดียว ลมหายใจจึงเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อย ๆ ในคลาสโยคะ อย่างน้อย ๆ ครูก็จะต้องคอยบอกว่าหายใจเข้าทำอย่างนั้นก่อน แล้วหายใจออกค่อยทำอย่างนี้ตามมา

กลไกของร่างกายที่ทำให้เราหายใจได้มีอยู่หลายองค์ประกอบ ทั้งอวัยวะภายในที่ประกอบกันเป็นระบบหายใจ เช่น หลอดลม ปอด ถุงลม ซึ่งการทำงานของอวัยวะภายในเหล่านี้อยู่นอกอำนาจจิตใจ (Involuntary) เราไม่สามารถสั่งงานได้โดยตรง

แต่องค์ประกอบที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้คือส่วนที่อยู่ใต้อำนาจการควบคุม (Voluntary) แปลว่าเราสั่งการมันได้ ซึ่งได้แก่กล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeletal Muscles) ต่าง ๆ ของระบบหายใจ ซึ่งก็มีอยู่หลายมัด แต่เราจะมาเจาะจงกันที่การทำงานของกะบังลม (Diaphragm) กันครับ

กะบังลมเป็นกล้ามเนื้อ

บางคนอาจจะคิดว่ากะบังลมเป็นเอ็นบ้าง เป็นพังผืดบ้าง เป็นเนื้อเยื่ออะไรสักอย่าง บางคนคิดว่าเป็นกระดูกก็มี แต่จริง ๆแล้วมันเป็นกล้ามเนื้อนะครับ เป็นกล้ามเนื้อประเภทกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeletal Muscle) คือกล้ามเนื้อที่เกาะกับกระดูกหรือเอ็นและช่วยในการเคลื่อนไหวเหมือนกับพวกกล้ามเนื้อแขนขานั่นแหละ จุดเกาะของกะบังลมคือขึงอยู่ที่ด้านล่างของซี่โครง มีลักษณะคล้าย ๆ รูปโดม ตำแหน่งที่กะบังลมเกาะอยู่รอบซี่โครงล่างและรูปร่างของกะบังลมแบบนี้เองทำให้กะบังลมเป็นเสมือนตัวแบ่งช่องอกและช่องท้องออกจากกัน

Diaphragm
Image from yoganatomy.com

เมื่อเป็นกล้ามเนื้อก็แสดงว่ามันเกร็งได้ เวลากะบังลมเกร็งก็เหมือนกล้ามเนื้ออื่น ๆ นั่นแหละครับ คือจะมีการหดตัวเล็กลงหรือสั้นลง จากที่เป็นรูปทรงโดมโค้ง ๆ ยอดโดมก็จะยุบลงมา พูดง่าย ๆ คือโดมแบนลงมา ทำให้พื้นที่ในช่องอกเพิ่มขึ้น เมื่อพื้นที่เปลี่ยนไป ความดันในช่องอกก็เปลี่ยนไปด้วย เมื่อช่องอกขยายก็เป็นการดูดอากาศเข้ามาในปอดซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องอก การเกร็งของกะบังลมจึงเป็นการทำงานของร่างกายที่เราเรียกกันว่าการหายใจเข้านั่นเอง

อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อยอดโดมกะบังลมยุบลงมาก็คือช่องท้องถูกลดพื้นที่ลง ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ภายในช่องท้องถูกเบียด เมื่อถูกเบียดก็ไม่รู้จะขยับขยายไปทางไหน ตับไตไส้พุงต่าง ๆ จึงถูกดันใส่ผนังหน้าท้อง ทำให้ท้องป่องออกมาด้านหน้า

และเมื่อกะบังลมคลายตัวสิ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายก็จะกลับกัน พื้นที่ช่องอกจะลดลง ปอดก็จะหดตัวลง ความดันในช่องอกก็จะดันเอาอากาศออกไป กลายเป็นการหายใจออก ช่องท้องได้พื้นที่กลับคืนมา ตับไตไส้พุงก็สามารถเคลื่อนกลับเข้าไปด้านใน ทำให้ผนังหน้าท้องยุบลงดังเดิม

เราจึงมักใช้หน้าท้องเป็นจุดสังเกตว่า หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ หรือบางทีก็เรียกกันว่าหายใจด้วยท้อง (Stomach Breathing) นั่นเอง

สิ่งที่มองเห็นจากภายนอก

อาจมีบางคนที่สงสัยว่าทำไมเราไม่เป็นแบบนั้น ทำไมเราหายใจเข้าแล้วท้องไม่ป่อง นั่นเป็นเพราะในบางครั้งและในบางคน (โดยเฉพาะคนที่มีนิสัยการออกกำลังกายเป็นประจำ) มีวิธีการหายใจที่แตกต่างออกไป และการทำงานของกะบังลมนั้นอยู่ข้างใน สิ่งที่มองเห็นจากด้านนอกนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การเกร็งตัวของกะบังลมทำให้กะบังลมหดตัว ลักษณะการหดตัวโดยทั่วไปก็เป็นการที่ยอดโดมยุบลงมาแบบที่อธิบายไปข้างต้น แต่อีกกรณีหนึ่งคือ ยอดโดมอยู่เหมือนเดิม แต่เป็นฐานของโดมต่างหากที่ยกตัวขึ้นไปแทน ลักษณะนี้โดมจะแบนลงเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่มองเห็นจากด้านนอกคือซี่โครงจะยกขึ้น (เพราะฐานของโดมกะบังลมเกาะอยู่กับซี่โครง) และกางออก หน้าอกจะยกขึ้น โดยที่ท้องไม่ป่องออกมา

แม้ข้างนอกจะดูต่างออกไป แต่ผลของการเกร็งตัวของกะบังลมตอนหายใจเข้าก็เหมือนเดิม คือช่องอกขยายตัว (แต่เป็นการขยายขึ้นด้านบนและออกด้านข้างแทน) ทำให้เกิดการดูดอากาศเข้ามาในปอด และเมื่อกะบังลมผ่อนคลาย ฐานของซี่โครงก็จะลดกลับลงมาพร้อมกับลดพื้นที่ในช่องอกลง ทำให้อากาศถูกดันออกไปจากปอด เป็นการหายใจออกนั่นเอง

หน้าท้องจึงไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่สิ่งที่มองเห็นได้ชัดจากข้างนอกคือหน้าอกมีการยกและขยายตัว การหายใจแบบนี้จึงมักถูกเรียกว่าการหายใจด้วยอก (Chest Breathing) นั่นเอง

Nadi Shodanaไม่มีอะไรมากะเกณฑ์ได้ว่าหายใจด้วยท้องจะดีกว่าหายใจด้วยอกอย่างที่หลายคนเข้าใจ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายในขณะนั้น (ลองนึกถึงตอนทำ Backbend ลึก ๆ แล้วพยายามหายใจด้วยท้องดูนะครับว่ามันจะอึดอัดขนาดไหน) และโดยปกติในชีวิตประจำวันของเราเอง เรามักจะใช้การหายใจทั้งสองแบบผสมผสานกันไปในการหายใจเข้าออกแต่ละครั้งอยู่แล้ว

ซึ่งการหายใจทั้งสองแบบนี้ก็นับเป็นการหายใจด้วยกะบังลม (Diaphragmatic Breathing) ด้วยกันทั้งคู่ เพราะจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ใช้ท้องหรืออกในการหายใจทั้งนั้นแหละครับ ท้องและอกคือสิ่งที่มองเห็นจากภายนอก เป็นจุดสังเกตเท่านั้นเอง แต่เป็นกะบังลมต่างหากครับที่เป็นกล้ามเนื้อหลักของระบบหายใจ

Photo created by jcomp – www.freepik.com

Facebook Comments

Related posts