พร้อมรบ Warrior 2

พร้อมรบ Warrior 2หนึ่งในอาสนะที่เราฝึกกันเป็นท่าแรก ๆ เลยก็คือ Warrior 2 หรือ Virabhadrasana 2

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเรามีประสบการณ์โลดแล่นอยู่บนผืนเสื่อมากขึ้น เราก็มักจะให้ความสำคัญกับท่านี้น้อยลง ๆ จนหลายคนแทบไม่ได้ใส่ใจกับการฝึกท่านี้อีกเลย

โดยส่วนตัวแล้ว Warrior 2 เป็นอาสนะที่ผมเน้นเป็นอย่างมากในการฝึกของตัวเอง ที่ต้องเน้นเพราะลำพังท่า Warrior 2 เองเพียงอาสนะเดียวก็มีประโยชน์มากมายมหาศาลแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น Warrior 2 ยังมักจะเป็นท่าตั้งต้นก่อนที่จะเคลื่อนไปสู่อาสนะต่อ ๆ ไป ดังนั้นยิ่งเราจัดวาง Warrior 2 ได้ดีเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นการง่ายต่อการฝึกอาสนะถัด ๆ ไปได้มากขึ้นเท่านั้น

การเข้าสู่ท่า Warrior 2 อย่างรอบคอบและชาญฉลาดจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดต่าง ๆ เช่น หัวเข่าบิด ซี่โครงบาน หรือเชิงกรานเอียง ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสบาดเจ็บอื่น ๆ ตามมา เมื่อใดก็ตามที่เรากำลังฝึกท่า Warrior 2 แทนที่จะทำแบบขอไปทีแค่พอให้มันผ่าน ๆ ไป ขอให้นึกถึงการตั้งท่าให้ดูสง่างามและองอาจให้สมกับเป็นอาสนะแห่งนักรบ

Warrior 2

ตั้งท่ารบ

เวลาฝึกท่า Warrior 2 อย่ากลัวที่จะกางขากว้าง ซึ่งครูแต่ละท่านอาจมีคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีวัดระยะความกว้างของขานี้แตกต่างกันไปบ้าง อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อบริเวณขาหนีบของเราด้วย ลองสังเกตว่าเมื่อยืนแล้วหากรู้สึกว่าเท้าสองข้างค่อย ๆ ไหลออกห่างจากกันอยู่ตลอดเวลา แสดงว่า Warrior 2 ของเราขากว้างเกินไปแล้ว แต่ถ้ายืนแล้วไม่รู้สึกว่าได้ใช้กำลังขาในการยึดติดกับพื้นให้มั่นคงเลย ก็แปลว่าเรายืนขาแคบเกินไป ให้กางขากว้างที่สุดเท่าที่เรากางได้โดยที่ยังรู้สึกว่าเรายังยึดเท้าไว้ได้อยู่ เหมือนกับเรากำลังลากเท้าสองข้างเข้าหากัน ไม่ใช้ไถลออกห่างจากกัน

รูปแบบการวางเท้าในท่า Warrior 2 มีการพูดถึงกันอยู่หลายแบบ แต่ละแบบอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ซึ่งเราสามารถทดลองทำแบบต่าง ๆ ดูได้ โดยส่วนตัวผมชอบแบบที่ให้ส้นเท้าสองข้างเป็นแนวเส้นตรงเดียวกัน แต่ไม่ว่าจะวางแบบไหนก็ตามสิ่งที่เราต้องการคือการยืนได้อย่างมั่นคงและสามารถจัดให้เชิงกรานตั้งตรงได้ ไม่เทลงมาด้านหน้า จัดเท้าหน้าให้นิ้วชี้เท้าชี้ตรงมาทางด้านหน้า เท้าหลังชี้ตรงหรือเกือบตรงออกไปด้านข้าง หมุนต้นขาของขาหน้าออกด้านนอกจนหัวเข่าตั้งตรงอยู่เหนือข้อเท้าและชี้ตรงไปในทิศทางเดียวกับปลายเท้า ถ้าได้ตามนี้แล้วเชิงกรานจะไม่กระดกมาด้านหน้าและจะไม่ไปเพิ่มแรงกดที่บริเวณหลังช่วงล่าง หากไม่สามารถหมุนต้นขาออกด้านนอกได้ให้ขยับขาแคบลงอีกนิด เพื่อให้สะโพกยกสูงขึ้นอีกเล็กน้อย อย่างไรก็ตามแม้เราจะบิดต้นขาหน้าออกด้านนอกแต่ระวังอย่ากดไปที่ขอบเท้าด้านนอกจนเกินไป ให้กดจมูกเท้าใต้นิ้วโป้งเท้าลงและกดส้นเท้าด้านในตรึงไว้กับพื้น

เหยียดขาหลังตรงด้วยกำลังของกล้ามเนื้อขา ดึงกล้ามเนื้อรอบ ๆ หัวเข่าให้แน่นแล้วกดขอบเท้าด้านนอกลงให้ติดพื้น ในขณะเดียวกันให้นิ้วเท้ากางออกกว้าง กดยึดจมูกเท้าลงสู่พื้นโดยที่ขอบเท้าด้านนอกไม่เผยอ ทั้งหมดนี้จะดึงพลังงานขึ้นมาตามขาด้านในขึ้นมาสู่เชิงกราน ตอนนี้เชิงกรานของเราจึงมั่นคงแข็งแรงพร้อมสำหรับการจัดช่วงบนของท่า Warrior 2 ต่อไป

อกผายไหล่ผึ่ง

การจัดช่วงลำตัวและหน้าอกของท่า Warrior 2 ให้นึกถึงนักรบที่ดูองอาจ ถ้าช่วงล่างของท่า Warrior 2 ยึดแน่นและแข็งแรงเพียงพอเราจะรู้สึกได้ถึงพลังงานที่ถูกดึงขึ้นมาสู่เชิงกราน ให้นึกภาพว่าเรากำลังดึงพลังงานนี้ขึ้นมาตามแนวกระดูกสันหลัง ทิ้งก้นกบลงล่าง ดึงหน้าท้องเพื่อเก็บซี่โครงซี่สุดท้ายเข้าด้านในและยกซี่โครงขึ้นเพื่อจัดให้ช่องทางพลังงานในกระดูกสันหลังยืดตรง และทำให้พลังงานเดินทางขึ้นสู่ช่วงอกได้โดยสะดวก

ช่องทางดังกล่าวต้องตรงจริง ๆ ไม่แอ่นและไม่โก่งหลัง เวลาที่เชิงกรานตั้งตรงกระดูกก้นกบจะสามารถชี้ลงพื้นได้ ซึ่งนั่นจะเป็นการช่วยยืดกระดูกสันหลังส่วนล่าง จากนั้นให้เคลื่อนกระดูกหน้าอกขึ้นมาหาคาง ไม่ดันไปด้านหน้า เท่านี้เราก็จะอกผายไหล่ผึ่งในท่า Warrior 2 ได้อย่างสง่างาม

Warrior 2

ติดอาวุธบนท่อนแขน

แขนที่เหยียดกางออกในท่า Warrior 2 ก็มีหน้าที่ที่ต้องทำเช่นเดียวกัน แม้เราจะมีกล้ามเนื้อ Triceps ที่ทำหน้าที่เหยียดแขนออกไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน แต่ควรต้องระวังไม่ให้แขนถูกดึงไปทางด้านหลังมากเกินไป ให้รักษาสมดุลด้วยการหมุนหน้าแขนคว่ำลง ข้อมือตรงและฝ่ามือหันลงหาพื้น ถ้าแรงที่รั้งแขนไปทางด้านหลังยังคงมีมากเกินไป ให้ผ่อนข้อศอกเล็กน้อย ทั้งหมดนี้จะช่วยให้กระดูกสะบักแผ่อย่างมั่นคงอยู่บนแผ่นหลัง ไปพร้อมกับเปิดพื้นที่ให้กระดูกหน้าอกยกขึ้นด้านบนและกระดูกสันหลังยืดยาว พลังงานจึงสามารถเคลื่อนขึ้นด้านบนได้โดยไม่ติดขัด

จัดคางให้ขนานพื้นแล้วยกหน้าอกขึ้นหาคางอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่กดคางลงไปหาหน้าอก สุดท้ายให้เราหันศีรษะไปทางปลายนิ้วมือที่อยู่ด้านหน้า สายตาแน่วแน่แต่นุ่มนวล สง่างามดังนักรบในสมรภูมิ

ดูเพิ่มเติมเรื่องข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัยของหัวเข่าได้ในวิดีโอนี้

Facebook Comments

Related posts