แยกร่าง รวมร่าง Marichayasana A

แยกร่าง รวมร่าง Marichayasana Aมีอาสนะท่านั่งหลายท่าที่เรามักถือวิสาสะจัดกลุ่มให้มันอยู่ในหมวดหมู่ท่าง่าย ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันมีความซับซ้อนอยู่ไม่ใช่น้อย Marichayasana A เป็นหนึ่งในอาสนะเหล่านั้น

ดูเผิน ๆ เหมือนนั่งขดตัวเฉย ๆ ไม่น่าจะใช่ท่าที่โหดร้ายอะไรมากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว Marichayasana A เป็นทั้งท่าก้มตัว บิดลำตัว เปิดสะโพก ยืดต้นขาด้านหลัง และยังมีการพันแขนอีกด้วย อาจจะไม่ได้สร้างความอึดอัดอะไรมากนักถ้าเราทำแบบขอไปที แต่เราก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการทำท่าสักเท่าไร แต่หากเราใส่ใจกับการเข้าสู่ท่าและการค้างท่าให้มากขึ้น เราจะพบว่าเราสามารถเรียนรู้จาก Marichayasana A ได้อีกมาก

ลดความซับซ้อน

อย่างที่เกริ่นไว้ว่า Marichayasana A เป็นทั้งท่าก้มตัว บิดลำตัว เปิดสะโพก เหยียดยืด Hamstring และมีการพันแขน ดังนั้นการจะทำให้เราเข้าใจอาสนะนี้และทำให้ร่างกายเข้าถึงได้มากขึ้น ก็ต้องด้วยการตัดองค์ประกอบบางอย่างออกไปก่อนเพื่อลดความซับซ้อนของท่าลง

Marichi A Option 1วิธีแรกคือการลดการเหยียดยืดกล้ามเนื้อ Hamstring ลงด้วยการนั่งบนบล็อก

Marichi A Option 2วิธีที่สองคือทำแค่บิดลำตัวและพันแขนเท่านั้น ตัดการก้มตัวออกไป

Marichi A Option 3และวิธีที่สามคือการลดความซับซ้อนของการพันแขนลง โดยใช้วิธีวางมือลงพื้นข้าง ๆ สะโพก

หรือเราจะผสมผสานสองในสามวิธีเข้าด้วยกันเพื่อลดความซับซ้อนของ Marichayasana A ลงไปอีกก็ได้

การลดความซับซ้อนของท่าลงไม่ใช่แค่ช่วยให้เราทำท่าได้ง่ายขึ้น แต่ยังทำให้เราเข้าใจท่าได้ดีขึ้นด้วย เมื่อตัดองค์ประกอบบางอย่างออกไปแล้ว ให้จดจ่อไปที่การทำองค์ประกอบที่ยังคงเหลืออยู่ให้ลึกซึ้งและสังเกตร่างกายขณะเข้าสู่ท่าให้มากขึ้น จำไว้ว่าเรากำลังเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้ ไม่ใช่แค่ทำท่าให้มันจบ ๆ ไป

รวมร่าง

การทำท่าเต็มก็เหมือนการรวมร่างย่อยทั้งหมดของ Marichayasana A เข้าด้วยกัน โดยค่อย ๆ ต่อเติมแต่ละองค์ประกอบเข้ามาทีละน้อยในระหว่างที่กำลังเข้าสู่ท่า

Marichi Aจากท่านั่งเหยียดขาในท่า Dandasana เมื่อเรางอเข่าขวาเข้ามาเพื่อเริ่มทำ Marichayasana A ก็เท่ากับเราเริ่มการเหยียดยืด Hamstring กับการเปิดสะโพกไปพร้อม ๆ กัน กดกระดูกรองนั่งข้างซ้ายและกดส้นเท้าขวาลงพื้นให้มั่นคง เปิดพื้นที่ตรงกลางระหว่างขากับเท้าไว้เล็กน้อยให้เพียงพอกับการก้มตัวลงได้ในขั้นตอนต่อไป

Marichi Aการบิดตัวและการก้มตัวเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน การบิดซ้ายจะช่วยให้การพันแขนขวาในขั้นตอนต่อไปทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้นให้หมุนสะดือไปทางซ้ายเล็กน้อยโดยที่ยังคงตรึงเท้าขวาไว้แน่น เหยียดแขนขวาขึ้นแล้วก้มตัวลงมาด้านในของเข่าขวา การยึดเท้าขวาแน่นติดพื้นจะช่วยให้เข่าแนบข้างลำตัวได้ดี ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เราพันแขนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

Marichi Aปล่อยไหล่ขวาตกลงแล้ววาดแขนรอบหน้าแข้งขวาและอ้อมไปด้านหลังสะโพก ณ จุดนี้การก้มตัวลงมามากเกินไปอาจไปลดการบิดลำตัวลง ซึ่งนั่นจะทำให้พันแขนยากขึ้น ยังมีเวลาให้เราก้มตัวเพิ่มเติมได้หลังจากนี้ เพราะฉะนั้นระหว่างที่วาดแขนให้ยังคงเน้นไปที่การบีบเข่าขวาแนบเข้าข้างลำตัวเพื่อให้พันแขนได้ง่ายขึ้น

Marichi Aบีบสีข้างขวา เข่าขวา แขนขวาให้แนบแน่น แล้วคว่ำหน้าอกลงอีกเล็กน้อยก่อนที่จะวาดแขนซ้ายไปด้านหลังเพื่อจับกับมือขวา ถึงตรงนี้ถ้ามือจับกันไม่ได้จริง ๆ ก็อาจต้องใช้เชือกช่วยไปก่อน

Marichi Aสุดท้ายจึงเพิ่มการก้มตัวในระดับลึกด้วยการยึดเท้าขวาและกระดูกรองนั่งข้างซ้ายให้แน่น รักษาองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เราค่อย ๆ เก็บเล็กเก็บน้อยมาตั้งแต่ต้นเอาไว้ให้ดี อย่าปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปกับองค์ประกอบใหม่ที่กำลังจะเพิ่มเข้ามาจนสูญเสียทุกอย่าง เมื่อพร้อมแล้วจึงหายใจออกแล้วพับลำตัวลง ไม่ฝืนเกินไปจนแขนขาหลุดกระจาย แต่ให้มุ่งเน้นไปที่การดึงพลังงานกลับเข้ามาสู่ศูนย์กลาง ปล่อยใจให้ค่อย ๆ สงบและคลายความสับสนลงในขณะที่ค้างอยู่ในท่า

มีอาสนะอื่น ๆ อีกมากมายที่ซับซ้อนและชวนให้สติกระเจิดกระเจิงได้มากกว่า Marichayasana A การใส่ใจกับการฝึก Marichayasana A จึงไม่เพียงช่วยเรื่องการเปิดข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกายเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ที่จะค้นหาความสงบท่ามกลางความสับสนในจิตใจได้เป็นอย่างดี

ชมวิดีโอเรียนรู้อาสนะ Marichayasana A ได้ที่นี่ครับ

และเรียนรู้เรื่องการพันแขนให้ดีขึ้นได้จากวิดีโอนี้

Facebook Comments

Related posts