Triangle Pose ใครก็ฝึกได้

Triangle Pose ใครก็ฝึกได้

Extended Triangle Pose (Utthita Trikonasana) น่าจะเป็นอาสนะที่เราเจอเป็นท่าแรก ๆ เลยเมื่อตอนที่เราเริ่มฝึกใหม่ ๆ จึงอาจถูกมองว่าเป็นท่าพื้นฐานหรือเป็นท่าง่าย จนใครที่ฝึกมานานแล้วก็อาจจะมองข้าม Triangle Pose ไป

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นท่าพื้นฐานที่ผู้ฝึกใหม่ส่วนใหญ่พอจะเข้าถึงได้ แต่ประโยชน์ของ Triangle Pose ก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปเลยแม้ว่าเราอาจจะฝึกมานานหลายปีและจัดประเภทตัวเองว่าเป็นผู้ฝึกระดับสูงแล้วก็ตาม ในทางกลับกัน แม้จะเป็นอาสนะระดับต้น แต่ก็ยังมีผู้ฝึกระดับสูงอีกมากมายที่ยังมีปัญหากับท่านี้อยู่ ดังนั้น Triangle Pose จึงมักจะยังคงปรากฏอยู่ในคลาสโยคะในทุกระดับขั้น และอาสนะนี้ก็ยังท้าทายเราอยู่เสมอโดยไม่เกี่ยงว่าเราจะฝึกมานานกี่ปีแล้วก็ตาม

บทความนี้จึงขอแบ่งปันเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับการปรับแก้ท่าในบางจุด เพื่อให้สามารถฝึกท่า Triangle กันได้ดียิ่งขึ้นและได้ประโยชน์จะท่ากันแบบครบถ้วน

มั่นคง

มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับการวางตำแหน่งของเท้าในท่า Triangle แต่ละสำนักหรือครูแต่ละคนก็อาจจะสอนไม่เหมือนกัน บางคนให้วางส้นเท้าเป็นแนวเดียวกัน บางคนให้วางส้นเท้าหน้าเป็นแนวเดียวกับส่วนโค้งของเท้าหลัง บางคนให้เท้าหลังชี้ 90 องศา บางคนบอกให้บิดเข้ามาเล็กน้อยประมาณ 60 องศา หรือที่แตกต่างไปจากที่ว่ามานี้ก็มี

ที่ว่ามานี้ไม่มีแบบไหนถูกหรือผิด โดยทั่วไปแล้วเราต้องการให้ขาและเชิงกรานมีความมั่นคง เพื่อเป็นฐานอันแข็งแกร่งให้กับการจัดร่างกายส่วนบนต่อไป ดังนั้นให้ทดลองด้วยตัวเองว่าวางเท้าแบบไหนแล้วเรารู้สึกมั่นคง เต็มฝ่าเท้า ไม่ล้มไม่หงายหลัง ไม่อึดอัดเมื่อเราเข้าสู่ท่า เราก็สามารถเลือกจัดวางแบบนั้นได้ โดยทั่วไปถ้าเท้าสองข้างซ้อนกัน (เช่น ส้นเท้าหน้าเป็นแนวเดียวกับส่วนโค้งของเท้าหลัง หรือปลายเท้าหลัง) ก็จะไม่ค่อยมั่นคงมากนัก เพราะฐานของท่าจะแคบลง แต่ข้อดีก็คือจะลดแรงกดที่กระเบนเหน็บและหลังส่วนล่างลงได้ ส่วนการบิดเท้าหลังเข้ามาน้อยกว่า 90 องศาก็ให้ผลเช่นเดียวกัน

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของการจัดปรับให้เหมาะกับร่างกายของเรามากกว่า หากทำท่าแล้วรู้สึกฝืนรั้งที่เอวหรือหลังส่วนล่างมาก ก็ควรปรับเท้าหลังให้หมุนเข้ามาอีกนิด แต่ถ้ารู้สึกว่ายืนแล้วเซจะล้มจะหงายหลังอยู่ตลอดเวลาก็สามารถเลื่อนเท้าหน้าให้ส้นเท้าเป็นแนวเดียวกับส้นเท้าหลัง หรือแม้แต่จะไม่ซ้อนกันเลยก็ได้ ก็จะช่วยให้ยืนได้มั่นคงมากขึ้น

Triangle Poseบิดหมุน

โดยธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ปกติเมื่อยืนอยู่ในท่านี้ เชิงกรานจากคว่ำเล็กน้อยอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเราบิดเท้าหลังเข้ามาอีกเชิงกรานก็จะยิ่งคว่ำ แต่ว่านั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะเราจะไม่ทำอะไรที่ฝืนธรรมชาติของร่างกายจนเกินไปแล้วมาลงท้ายด้วยการเจ็บตัว แต่เราเลือกที่จะจัดปรับอาสนะให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายของเราแทน

การที่เชิงกรานคว่ำเล็กน้อย แต่เราต้องการจะเปิดลำตัวให้อกเปิดหันออกด้านข้างนั้น หมายความว่าเรากำลังจะ Twist หรือบิดกระดูกสันหลัง Triangle Pose จึงไม่ใช่แค่อาสนะที่เหยียดยืดด้านข้างลำตัวแต่เพียงอย่างเดียว และในเมื่อเป็นท่าบิดลำตัว ก็หมายความว่าเราสามารถนำเทคนิคทั่ว ๆ ไปของท่าบิดมาปรับใช้กับ Triangle Pose ได้

อย่าให้อัตตาของตัวเองทำให้เราบาดเจ็บ คนที่มือลงไม่ถึงพื้นควรใช้บล็อกหรือไม่ก็วางมือบนข้อเท้าแทน เพราะแรงบิดที่บริเวณเอวและหลังส่วนล่างจะมีเยอะมากเวลาที่เราพยายามจะเข้าสู่ท่า

ทุกการบิดให้เริ่มจากแกนกลางลำตัว ให้หมุนสะดือขึ้นหาเพดานก่อนที่จะหมุนหน้าอก ก่อนที่จะเหยียดแขนบน และก่อนที่จะหมุนคอเงยหน้า การหมุนในลักษณะนี้จะทำให้เรามั่นใจว่าได้ใช้กระดูกสันหลังครบทุกส่วน ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งทำมากเกินไปเพื่อไปชดเชยส่วนที่ทำน้อยเกินไป จึงเป็นการบิดลำตัวที่ปลอดภัย โดยเฉพาะกับไหล่และคอที่เรามักจะพยายามฝืนเงยหน้าขึ้นมองเพดานมากเกินไปอยู่เป็นประจำ

รักษาสมดุลของความมั่นคงของขาและเชิงกรานไปพร้อมกับการปลดปล่อยกระดูกสันหลังให้เป็นอิสระเบาสบายขณะบิดหมุนขึ้นสู่ท้องฟ้า คงระดับการหายใจให้สม่ำเสมอไปพร้อมกับตรวจสอบสมดุลที่สร้างไว้อยู่ตลอดเวลา

แล้วเราจะค้นพบคุณค่าของ Utthita Trikonasana ได้เสมอ ไม่ว่าประสบการณ์การฝึกของเราจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม

Facebook Comments

Related posts