Prana ปราณ แบบเข้าใจง่าย

Prana ปราณ แบบเข้าใจง่าย

เวลาพูดถึงปราณบางคนจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องลึกลับ หรือบางคนคิดไปถึงเรื่องนิยายหรือหนังจีนกำลังภายใน จนอาจคิดว่าดูเป็นเรื่องในจินตนาการที่ไม่น่าจะมีอยู่จริง

ศาสตร์เกี่ยวกับปราณนั้นมีมานานและพบว่ามีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละชนชาติ คนจีนเรียกว่า “ชี่” (Qi) คนญี่ปุ่นเรียกว่า “คิ” (Ki) ส่วนคำว่า “ปราณา” (Prana) เป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งภาษาไทยก็ยืมคำสันสกฤตมาใช้และเรียกเป็นคำไทยว่า “ปราณ” ทั้งหมดนี้มีความหมายใกล้เคียงกัน แปลคร่าว ๆ ว่า “พลังชีวิต” (Life Force)

ศาสตร์เกี่ยวกับปราณดูเร้นลับเนื่องจากในอดีตชาวจีนและญี่ปุ่นมีความคิดว่าต้องปิดบังเอาไว้ไม่เผยแพร่ในวงกว้าง เพราะความรู้เกี่ยวกับปราณนั้นเมื่อฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้วสามารถทำให้ผู้ครอบครองวิชามีพลังอำนาจมหาศาล และหากผู้นั้นเป็นคนไร้ซึ่งคุณธรรมด้วยแล้วก็อาจสร้างความเดือดร้อนวุ่นวายอย่างใหญ่หลวง (ก็เหมือนในหนังจีนนั่นแหละ)

แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ก้าวหน้าไปมากเกินกว่าความร้ายแรงของวิชาแห่งปราณมากมายนัก ศาสตร์เหล่านี้จึงค่อย ๆ เปิดเผยออกมาให้คนทั่วไปมีโอกาสได้เรียนรู้ เพราะอันที่จริงแล้วศาสตร์เกี่ยวกับปราณนั้นมีคุณสมบัติในด้านการรักษาโรคภัยต่าง ๆ ไปจนถึงการเสริมสร้างสุขภาพที่ดี การเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ในวงกว้างจึงเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ทุกคนมีปราณ

เราต่างมีชีวิต ปราณหรือพลังชีวิตคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้เรายังคงมีชีวิตอยู่ ซึ่งพลังชีวิตจะสมบูรณ์หรือพร่องนั้นก็อยู่ที่เราทำอย่างไรกับชีวิตเราเอง

ปราณเกิดมาจากการทำงานของอวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และสารจำเป็นหรือสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ที่ร่างกายหรืออวัยวะนั้น ๆ ต้องการ เช่น ออกซิเจน น้ำ สารอาหาร การพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นต้น

เมื่อทำความเข้าใจปราณตามความหมายง่าย ๆ แบบนี้แล้ว จะพบว่าเรื่องของปราณไม่ได้เร้นลับหรือดูเป็นเรื่องเพ้อเจ้อแต่อย่างใด เพราะปราณเป็นพลังชีวิตที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน

วิทยาศาสตร์มัธยมต้น

เรามารื้อฟื้นบทเรียนวิทยาศาสตร์ระดับ ม.ต้นกันสักหน่อยดีกว่า

Human Body System

ทุกครั้งที่เราหายใจเข้าเรานำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อไว้ใช้เป็นสารตั้งต้น (Reactant) ในการทำปฏิกิริยาในระดับเซลล์ ผลลัพธ์ (Product) ที่ได้จากปฏิกิริยานี้ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ซึ่งเราระบายออกมาผ่านการหายใจออก) น้ำ และพลังงานซึ่งเซลล์จะเก็บไว้ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

แล้วใครเป็นคนเอาออกซิเจนไปให้เซลล์ล่ะ? คำตอบก็คือเม็ดเลือดแดงครับ ออกซิเจนถูกขนส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยเม็ดเลือดแดง ดังนั้นการมีระบบไหลเวียนของเลือดที่ดี สามารถสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ทั่วถึง การขนส่งออกซิเจนและการปลดปล่อยพลังงานก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย

ออกซิเจนอย่างเดียวใช่ว่าจะเพียงพอ ปฏิกิริยาเคมีในระดับเซลล์ยังต้องการสารตั้งต้นอีกหนึ่งตัวคือสารอาหาร อาหารที่เราทานเข้าไปนั้น เมื่อผ่านการย่อยสลายได้เป็นสารอาหารโมเลกุลเล็กแล้วจึงจะสามารถแพร่เข้าสู่เซลล์ได้ ดังนั้นการผลิตพลังงานของเซลล์จึงจำเป็นต้องอาศัยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของระบบย่อยอาหารเพื้อให้ได้สารอาหารที่จำเป็นออกมาไว้สำหรับใช้ในปฏิกิริยา

อย่างไรก็ตาม เมื่อเม็ดเลือดแดงนำพาออกซิเจน ปลดปล่อยพลังงานและทำให้เกิดความร้อนภายในร่างกายขึ้นแล้ว ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้ความดันเลือดเพิ่มปริมาณขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการนำส่งออกซิเจน การผลิตและสำรองพลังงาน และความดันเลือดในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจึงจำเป็นต้องถูกควบคุมดูแลให้อยู่ในสภาวะที่สมดุล ไม่มากไม่น้อยเกินไป ซึ่งนั่นก็เป็นหน้าที่ของระบบประสาทของร่างกายที่จะนำส่งข้อมูลต่าง ๆ ทั้งปริมาณออกซิเจนในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความดันเลือด อุณหภูมิของร่างกาย และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปยังระบบประสาทส่วนกลางเพื่อประมวลผลและสั่งการให้ร่างกายปรับตัวให้เหมาะสม

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ ออกซิเจน การหมุนเวียนเลือด การย่อยอาหาร พลังงาน การนำส่งข้อมูลในระบบประสาท ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นกระบวนการที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือพลังชีวิตหรือปราณของเรานั่นเอง

โยคะเคลื่อนปราณ

การทำงานของกล้ามเนื้อเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกายในอาสนะต่าง ๆ โดยมีการกำกับด้วยลมหายใจควบคู่ไปด้วยนั้น เป็นการฝึกที่ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนปราณไปในทิศทางที่เฉพาะเจาะจงเพื่อหวังผลลัพธ์บางอย่าง การที่เราเกร็งตรงนั้นคลายตรงนี้ในท่านั้นท่านี้จึงเป็นไปเพื่อกำกับให้เกิดการไหลเวียนเลือดและการปลดปล่อยพลังงานไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือเพื่อผ่อนถ่ายความกดดันในบางส่วนออกไป

การเคลื่อนไหวอย่างมีสติ การจดจ่ออยู่กับร่างกายและลมหายใจ ก็ช่วยให้การนำส่งข้อมูลในระบบประสาทเป็นไปอย่างแม่นยำ และทำให้ระบบประสาทส่วนกลางสามารถออกคำสั่งได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

เรื่องของปราณจึงเป็นเหมือนวิชาวิทยาศาสตร์ของคนยุคก่อนที่สามารถอธิบายกลไกการทำงานภายในร่างกายได้อย่างน่าทึ่ง แม้ว่าในยุคสมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่ช่วยในการทำความเข้าใจความซับซ้อนของร่างกายมนุษย์แบบที่เรามีกันอยู่ในยุคนี้ก็ตาม

Facebook Comments

Related posts