งู เชือก และโยคะ

งู เชือก และโยคะ

มีนิทานสั้น ๆ เรื่องงูกับเชือกมาเล่าให้ฟัง

เป็นเวลาดึกสงัดแล้วที่ชายคนหนึ่งกำลังเดินผ่านมาบนทางเดินอันมืดขมุกขมัว มันเป็นคืนเดือนมืดที่มีแสงดาวพอส่องให้เห็นทางเดินเพียงรำไร ชายคนหนึ่งก้าวเดินไปโดยอาศัยความเคยชินนำทาง ทันใดนั้นเองก็ปรากฏงูตัวหนึ่งนอนขดตัวขวางกลางทางเดินนั้น เขาตกใจกลัวถึงกับผงะถอยหลังแล้วรีบหันหลังวิ่งกลับไปทางทิศตรงกันข้ามทันที

เช้าวันถัดมาเขาเดินผ่านมายังเส้นทางเดิมอีกครั้ง ท่ามกลางแสงแดดส่องสว่างเขาพบเชือกขดหนึ่งวางกองขวางทางเดินที่เขาคุ้นเคย เขาจึงตระหนักขึ้นได้ในทันทีว่าในความมืดมิดเมื่อคืนก่อนเขาเข้าใจผิดไปเองว่าเชือกขดนี้คืองูที่มาขวางทางเดินของเขาเอาไว้ ความมืดของกลางคืนทำให้ยากที่จะมองเห็นสิ่งที่เป็นจริง แต่ในความสว่างของกลางวันเขาจึงมองเห็นทุกอย่างได้ชัดเจน

นี่เป็นเรื่องเล่าของหลักปรัชญาเวทานตะ ซึ่งก็เป็นอีกแขนงหนึ่งที่แตกหน่อออกมาจากคัมภีร์พระเวทเช่นเดียวกับโยคะ จึงมีหลายคำสอนที่คล้ายคลึงกัน

เวทานตะจะเน้นคำสอนเรื่องการไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริง ซึ่งนิทานเรื่องนี้ก็สอนไว้ชัดเจนในเรื่องนี้ การรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราอาจถูกความมืดมิดปกคลุมเอาไว้ ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่าความไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง โดยอาจมาในรูปความกลัว ความเกลียดชัง อคติ และเราก็มีแนวโน้มที่จะตัดสินสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นไปตามที่เราเห็นบนพื้นฐานของอารมณ์ที่เรามี และนั่นทำให้เราเข้าใจผิดคิดไปเองว่าเชือกนั้นคืองู

ในคัมภีร์โยคะสูตรของปตัญชลี (Yoga Sutra of Patanjali) บทที่ 1 สูตรที่ 2 ได้ให้ความหมายของโยคะไว้สั้น ๆ ว่า

1.2 Yoga Citta Vritti Nirodhah

โยคะ จิตตะ วฤตติ นิโรธะ

มีผู้รู้แปลคำสอนสันสกฤตนี้ไว้หลายแบบ โดยส่วนตัวผมชอบคำแปลของ Swami Satyananda ซึ่งแปลความไว้ว่า “To block the pattern of consciousness is yoga” – การยับยั้งการปรุงแต่งของจิตนั้นคือโยคะ การแปลโดยใช้คำว่า ‘pattern’ นั้นให้ความหมายที่ลึกซึ้งว่าการปรุงแต่งนั้นมักจะมีรูปแบบเดิม ๆ อยู่เสมอ เช่น เมื่อเห็นสิ่งที่คิดว่าเป็นงูขวางทางเดินอยู่ก็มักจะมีปฏิกิริยาคือตกอกตกใจแล้ววิ่งหนีทุกครั้งไป

ดังนั้น เมื่ออยู่ในคลาสโยคะ เราอาจกำลังอยู่ในอาสนะที่ชวนให้อึดอัดอย่างพวกท่าบิดตัวลึก ๆ แบบต่าง ๆ กำลังโงนเงนอยู่ในท่ายืนขาเดียว หรือกำลังกล้า ๆ กลัว ๆ ตอนทำพวกท่ากลับหัว แล้วในช่วงเวลาแห่งงูพิษนั้นครูก็พูดขึ้นมาว่าให้เราจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ สิ่งนั้นคือแสงตะวันที่สาดส่องลงมาเพื่อให้เรามองเห็นว่าอาสนะเหล่านั้นเป็นแค่เชือกขดหนึ่งที่วางกองอยู่บนพื้น แท้จริงแล้วมันไม่มีพิษภัยใด ๆ เราฝึกฝนอาสนะเหล่านั้นเพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี เราไม่ได้ต้องการจะต่อสู้กับอาสนะ เราสามารถปรับเปลี่ยนดัดแปลงให้อาสนะนั้นเหมาะสมกับสภาพร่างกายของเรา หรือเราจะเลือกฝึกในอาสนะที่เรามีความพร้อมของร่างกายเพียงพอก็ได้

การกลับมาอยู่กับลมหายใจเหมือนเป็นการเพิ่มระยะห่างขึ้นมาอีกนิดระหว่างเรากับงูพิษ พอให้เรามีช่องว่างทางความคิดไว้สำหรับการไตร่ตรองว่าสิ่งที่เห็นนั้นจริง ๆ แล้วคืออะไรและเราควรจะมีปฏิกิริยาอย่างไร เป็นช่วงเวลาที่เราหยุดปรุงแต่งอาสนะเหล่านั้นด้วยอารมณ์หรือความคิดฟุ้งซ่าน และเมื่อเรามองเห็นได้ตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงแค่เชือกธรรมดา ๆ เท่านั้น เราจึงจะสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างสบายใจ

เมื่อเราฝึกฝนการสร้างความตระหนักรู้ตามความเป็นจริงนี้ได้ในอาสนะต่าง ๆ เราก็ย่อมสามารถนำสิ่งนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ไม่ยาก โยคะทำให้เราหยุดและพิจารณาตามความเป็นจริง และสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดคือเชือกสิ่งใดคืองู

Facebook Comments

Related posts