ถ้าไม่รู้จะฝึกท่าอะไร ให้ฝึกสุริยนมัสการ

Surya Namaskarถ้าวันไหนขี้เกียจไปฝึกโยคะที่สตูฯ อยากฝึกเงียบ ๆ อยู่ที่บ้าน อยากฝึกแบบสั้น ๆ ไม่เอาแบบเป็นชั่วโมง ขี้เกียจคิดด้วยว่าจะฝึกท่าอะไรดี หรือคิดไม่ออกว่าจะวอร์มร่างกายด้วยท่าอะไรดี ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ฝึกชุดท่าไหว้พระอาทิตย์สัก 6-12 รอบ รับรองว่าเวิร์ก

ก็ถือเป็นแนวทางการฝึกที่ดีในวันที่ยุ่ง ๆ ไม่มีเวลามากนัก หรือในวันที่เกิดขี้เกียจขึ้นมาแต่ก็ไม่อยากเสียวินัยในการฝึก

เพราะการฝึกชุดท่าไหว้พระอาทิตย์ (Sun Salutation) หรือสุริยนมัสการ (Surya Namaskar) นั้นถือว่าได้ประโยชน์โดยรวมค่อนข้างครบถ้วน แถมยังไม่ยากจนเกินไป ใคร ๆ ก็ฝึกได้ทั้งนั้น

สุริยนมัสการ มาจากไหน?

Surya Namaskar เป็นคำสันสกฤต Surya หมายถึงพระอาทิตย์ ส่วน Namaskar มีรากมาจากคำว่า Namas แปลว่า “to bow to” หรือก็คือการเคารพ บูชา สุริยนมัสการจึงแปลง่าย ๆ เป็นภาษาไทยว่าการไหว้พระอาทิตย์

Upward Dog
Upward Facing Dog

ดวงอาทิตย์มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของนามธรรมหลายสิ่งเช่น การเริ่มต้นของชีวิต การตื่นรู้ ปัญญา ความดีงาม ซึ่งมักจะมีความหมายไปในเชิงบวกและอยู่ตรงข้ามกับความมืด ภูตผีปีศาจ ความชั่วร้าย การบูชาพระอาทิตย์จึงเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในอารยธรรมโบราณหลายอารยธรรมทั่วโลก ในอารยธรรมฮินดูเปรียบเปรยดวงอาทิตย์เป็นดวงตาของโลก (loka chakshus) มองเห็นและหลอมรวมทุกสรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียว และเป็นดั่งหนทางไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า

จุดกำเนิดของสุริยนมัสการนั้นไม่ชัดเจนและยังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันเรื่อยมา บ้างก็ว่ามีมานานแล้วอย่างน้อยก็ 2,500 ปี คือตั้งแต่ในยุคพระเวทกันเลยทีเดียว แต่สุริยนมัสการในยุคนั้นเป็นพิธีกรรมการหมอบกราบในตอนรุ่งเช้า มีการสวดมนต์ บูชาด้วยดอกไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ เอาเป็นว่ามันแทบจะเป็นคนละเรื่องกับสุริยนมัสการที่เราฝึกกันอยู่ทุกวันนี้เลย

Downward Dog
Downward Facing Dog

สุริยนมัสการที่ฝึกกันในคลาสโยคะในปัจจุบันนี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาทีหลัง รูปแบบการฝึกของแต่ละสำนักก็ยังมีท่าทางที่แตกต่างกันไปอีกด้วย ยากที่จะบอกว่าของสำนักไหนคือของแท้ดั้งเดิม

จะแท้หรือไม่แท้ก็ตามแต่ แต่ประโยชน์ที่ได้จากการฝึกนั้นเป็นของแท้แน่นอน

สุริยนมัสการ ฝึกแล้วได้อะไร?

แม้แต่ละสำนักโยคะจะมีท่าทางการฝึกสุริยนมัสการแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วสุริยนมัสการมักจะเป็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากท่าหนึ่งไปสู่อีกท่าหนึ่งต่อ ๆ กันไปคล้ายกับเป็นกระบวนท่า

การที่มันเป็นกระบวนท่าต่อเนื่องก็เลยมีข้อดีตรงที่ทำให้ผู้ฝึกได้เคลื่อนไหว ร่างกาย ท่าทางต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ ได้มีการเคลื่อนไหวหลายรูปแบบสลับกันไปมา มีทั้งการเกร็งและการเหยียดยืดควบคู่กันไป อีกทั้งยังมีการกำหนดลมหายใจควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวจากท่าหนึ่งไปสู่อีกท่าหนึ่ง ทำให้การฝึกสุริยนมัสการนี้ได้ประโยชน์ครบถ้วนแทบจะทั่วทั้งร่างกายทุกส่วน เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยในเรื่องการขับของเสียที่คั่งค้างอยู่ในร่างกายออกไป และยังถือเป็นการฝึกสติได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

สุริยนมัสการ ฝึกยังไง?

Flat Back
Flat Back

สุริยนมัสการส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยท่าโยคะประมาณ 8-12 ท่า แต่เนื่องจากสุริยนมัสการแต่ละสำนักมีท่าทางแตกต่างกันไป และในชั้นเรียนโยคะบ่อยครั้งครูก็มักจะแทรกท่าเพิ่มเติมเข้าไปในสุริยนมัสการได้อีกด้วย ในที่นี้จึงขอกล่าวรวม ๆ ถึงการนำสุริยนมัสการมาใช้ประกอบการฝึกโยคะแบบทั่ว ๆ ที่เราสามารถทำได้ในชีวิตประจำวันนะครับ

กรณีแรกคือการที่เราฝึกสุริยนมัสการเพื่อเป็นการวอร์มร่างกายก่อนที่จะไปฝึกอาสนะอื่น ๆ ต่อไป โดยส่วนตัวเวลาผมสอนก็จะให้นักเรียนฝึกสุริยนมัสการแบบ A และ B ไปสัก 3-5 รอบก่อนที่จะนำฝึกอาสนะอื่น ๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ก็ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนว่าควรทำกี่รอบ อาจทำมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ควรทำเพื่อให้ร่างกายเปิด กล้ามเนื้อตื่นตัว พร้อมสำหรับการเคลื่อนไหวหรือพร้อมสำหรับการฝึกอาสนะอื่น ๆ ที่อาจต้องมีการเข้าท่าที่ลึกมากขึ้น ซึ่งก็เป็นการลดโอกาสบาดเจ็บจากการฝึกไปด้วยในตัว

Standing Forward Bend
Standing Forward Bend

อีกกรณีก็คือเราอาจฝึกแค่สุริยนมัสการอย่างเดียวโดด ๆ เช่นฝึกตอนเช้าหลังจากตื่นนอน ซึ่งกรณีนี้เราสามารถเพิ่มจำนวนรอบเป็น 6-12 รอบได้ โดยนิยมฝึกกัน 12 รอบเพื่ออิงตามการฝึกเพื่อเป็นการสักการะพระนามของพระอาทิตย์ที่มีอยู่ 12 ชื่อ หลังจากฝึกครบ 12 รอบแล้วก็รับรองได้เลยว่ากระปรี้กระเปร่าสดชื่นแน่นอน

ไม่ว่าจะฝึกกี่รอบ หรือฝึกตามแนวทางของสำนักใดก็ตาม อย่าลืมที่จะกำหนดลมหายใจให้สอดคล้องสัมพันธ์กับท่าทางและการเคลื่อนไหวไปด้วย เราจึงจะได้สุริยนมัสการที่สมบูรณ์แบบที่เป็นการฝึกทั้งร่างกายและการฝึกสติไปพร้อมๆ กัน

ใครที่สนใจการฝึกสุริยนมัสการในรูปแบบ Ashtanga Vinyasa ซึ่งมีชุดท่าหลัก ๆ คือแบบ A และ B สามารถดูแนวทางการฝึกแบบคร่าว ๆ ได้จากคลิปวิดีโอต่อไปนี้ครับ

Facebook Comments

Related posts